วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2562

พรรณไม้หอมไทย

พันธุ์ไม้หอมที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร


      เมืองไทยมีพันธุ์ไม้หอมจำนวนมากมาย ทั้งพืชที่ให้ดอกหอม ใบหอม เปลือกหอม ผลหรือเมล็ดหอม รากหอม ยางหอม และต้นหอม ความหอมจากส่วนต่าง ๆ ของพืชพรรณไม้ไทยเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้โดยตรง เช่น ปลูกไว้ในบริเวณบ้านเพื่อส่งกลิ่นหอม หรือเก็บส่วนต่าง ๆ ที่มีกลิ่นหอมมาทำเป็นเครื่องหอม หรือนำไปสกัดเป็นสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีสรรพคุณในทางยาสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคทางกาย อารมณ์และจิตใจ รวมทั้งนำไปเสริมความสวยความงาม
ดังที่กล่าวแล้วว่า พันธุ์ไม้หอมของไทยนั้นมีนับร้อยชนิด วารสารเกษตรกรรมธรรมชาติฉบับนี้ขอนำมาเสนอ5ชนิด เพื่อให้เราได้รู้จักพันธุ์ไม้หอมและนำไปใช้ประโยชน์กันมากขึ้น


กฤษณา
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aquilaria crassna Pierre H.Lec.
วงศ์ THYMELAEACEAE
ชื่ออื่น ไม้หอม(ตะวันออก) กายูกาฮู กายูการู(ปัตตานี-ใต้)
กฤษณาให้ดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอมฉุน เนื้อไม้ที่เหมาะสมสำหรับนำไปทำยา ต้องมีสีดำและมีกลิ่นหอม เมื่อตัดเป็นท่อน ๆ แล้วโยนลงน้ำต้องจมลงทันที โดยมากจะได้เนื้อไม้ลักษณะนี้จากต้นที่มีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป และจะดีที่สุดคือ มีกลิ่นหอมทั้งต้นเมื่ออายุ 50 ปี(ปกติเนื้อไม้จะมีสีขาว และไม่มีกลิ่น กลิ่นที่ได้เกิดจากเชื้อราที่ชื่อ Cystosphaera mangiferae Died ซึ่งเข้าไปเจริญในเนื้อไม้ทำให้มีสีเข้ม ให้ oleoresin ซึ่งจะเริ่มเกิดเมื่อกฤษณาอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป)
เนื้อไม้ยังนำไปกลั่นน้ำมันหอมระเหย เรียกว่า Agar-atar และ Chuwah หรือใช้ชันจุดเผาไฟจะเกิดควันที่มีกลิ่นหอม บางศาสนานิยมนำไปเผาเพื่อบูชาเทพเจ้า ผงกฤษณาผสมทำธูปหอม หรือใช้โรยบนเสื้อผ้าเพื่อฆ่าเหาและหมัด
ลักษณะ
กฤษณาเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ อาจสูงได้ถึง 30 เมตร เรือนยอดทรงพุ่ม เปลือกต้นเรียบสีเทา ใบเดี่ยวรูปรีแกมขอบขนาน โคนใบมน ปลายใบเรียวแหลม ขอบใบเป็นคลื่นม้วนลงเล็กน้อย ออกแบบเรียงสลับ เนื้อไม้อ่อนสีขาวมีเสี้ยน
ดอกสีขาวนวล มี 5 กลีบ ออกเป็นช่อหรือกระจุก มีกลิ่นหอมฉุน เวลาออกดอกมักออกพร้อมกันเต็มต้น
ผล    รูปรีปลายมน เปลือกแข็งมีขนสั้นประปรายหรือเกลี้ยง กลีบเลี้ยงเจริญติดอยู่กับผล
การขยายพันธุ์
กฤษณาขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ชอบอากาศร้อนชื้น มีมากทางภาคใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้
สรรพคุณ
–         เนื้อไม้  ใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ แก้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ท้องร่วง ปวดตามข้อ แก้กระหายน้ำ
–         แก่นไม้  ใช้บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงตับและปอดให้เป็นปกติ
–         น้ำมันจากเมล็ด  ใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้โรคเรื้อน แก้มะเร็ง
ประโยชน์ด้านอื่น
–         เนื้อไม้  ในแหลมมลายูใช้ผสมในเครื่องสำอาง
–         ผงจากเนื้อไม้  ใช้โรยบนเสื้อผ้าเพื่อฆ่าเหาและหมัด หรือผสมในการทำธูปหอม
–         ชัน  ชาวฮินดูใช้จุดเผาไฟ เพื่อให้มีกลิ่นหอมในโบสถ์
การบูร
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) J.S. Presl
วงศ์ LAURACEAE
ชื่ออื่น การะบูน(กลาง) อบเชยญวน พรมเส็ง(เงี้ยว)
การบูรให้ดอกเล็กสีขาวอมเขียวหรือเหลือง กลิ่นหอม ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
เปลือกและรากนำไปสกัดด้วยไอน้ำได้การบูรดิบ ผงการบูร เป็นเกล็ดกลมเล็กสีขาวแห้ง ใช้ทำเครื่องหอมประเภทไล่ยุงและแมลง หรือผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้า
สรรพคุณทางยาใช้การบูร แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับผายลม หากนำไปผสมน้ำผึ้งจะเป็นยาร้อนใช้ทาเพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ โรคปวดผิวหนัง รอยแตกในฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย เป็นต้น
นอกจากนี้เปลือกรากและกิ่งยังนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า Camphor oil ใช้น้ำมันชนิดสีขาว มีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจปลอดโปร่ง บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ และใช้ไล่แมลง
ลักษณะ
การบูรเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 9 เมตร ผิวมันเกลี้ยงเป็นสีเขียว ใบเดี่ยว รูปรีผิวมันเรียบปลายใบแหลม ใบค่อนข้างบาง
ดอกเล็กสีขาวอมเขียวหรือเหลือง กลิ่นหอม ออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม
ผล ขนาดเล็กสีชมพูหรือน้ำตาลม่วง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด กลิ่นหอมและมีรสหวาน
การขยายพันธุ์
การบูรขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และปักชำ
สรรพคุณ
–         เปลือกและราก  กลั่นเป็นการบูร รับประทาน 1-2 เกรน แก้ปวดขัดตามเส้นประสาท ข้อบวมเป็นพิษ แก้เคล็ดขัดบวม เส้นสะดุ้ง กระตุก ข้อยอกแพลง แก้ปวดท้อง ท้องร่วง ขับน้ำเหลือง แก้เลือดลม บำรุงกำหนัด ขับผายลม หากนำไปผสมน้ำผึ้งจะเป็นยาร้อนใช้ทาเพื่อถอนพิษอักเสบเรื้อรัง ปวดยอกตามกล้ามเนื้อ สะบักจม ทรวงอกปวดร้าวตามเส้นเอ็น โรคปวดผิวหนัง รอยผิวแตกในฤดูหนาว แก้พิษสัตว์กัดต่อย เป็นต้น
ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
–         ใบและกิ่งก้าน  ใช้แต่งกลิ่นอาหารและขนม เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ไส้กรอก เบคอน ข้าวหมกไก่ เยลลี่ แยม ลูกกวาด เครื่องดื่มโคคา-โคลา เหล้าใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องพะโล้ เครื่องแกงมัสมั่น ผงกะหรี่ ขนมเค้ก คุกกี้ เป็นส่วนประกอบของอาหารประเภทผักดอง ซอส ใช้แต่งกลิ่นยา เป็นต้น
–         ผงการบูร  ใช้ทำเครื่องหอมประเภทไล่ยุงและแมลง หรือผสมเป็นตัวดับกลิ่นอับในรองเท้า
ข้อควรระวัง
ผู้ที่ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด เป็นโรคริดสีดวงทวาร อุจจาระแข็งแห้งและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทาน
น้ำมันการบูร (Camphor)
น้ำมันการบูรช่วยกระตุ้นความรู้สึกและทำให้จิตใจโล่งปลอดโปร่งได้ดี ช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะและทำให้ตื่นตัว ยังใช้ได้ดีกับการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ และใช้ไล่แมลง
น้ำมันการบูรจะใสไม่มีสีไปจนถึงสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นสดชื่น แหลมฉุน จัดอยู่ในกลุ่ม Top note
วิธีการใช้
ผสมน้ำมันนวดตัว ประคบ ผสมในขี้ผึ้ง สูดดม เตาระเหย โลชั่น
ข้อควรระวัง
ห้ามใช้น้ำมันการบูรที่มีสีน้ำตาลและเหลือง เพราะมีความเป็นพิษ

กำยาน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Styrax tonkinensis Craib, Styrax paralleloneurus Perkins, Styrax benzoin Dry.
วงศ์ STYRACACEAE
ชื่ออื่น กำยานไทย(กลาง) กำหยาน(เหนือ) เซ่พอบอ(กะเหรี่ยงเชียงใหม่) เข้ว(ละว้า-เชียงใหม่) เกลือตานตุ่น(ศรีสะเกษ) ชาติสมิง(นครพนม) กำมะแย กำยานสุมาตรา (นราธิวาส มาเลเซีย)
กำยานมีกลีบดอก 2 สี กลีบดอกด้านในเป็นสีชมพู หรือชมพูแดง ส่วนกลีบดอกด้านนอกจะเป็นสีขาว มีเกสรตัวผู้สีเหลือง มีกลิ่นหอม ส่วนที่ใช้ประโยชน์โดดเด่นคือยางจากต้นหรือยางจากเปลือก ทั้งในด้านสมุนไพรหรือการนำไปทำเครื่องหอมต่าง ๆ
ยางกำยานชั้นหนึ่งจะมีสีขาว ซึ่งได้จากต้นที่มีอายุ 3-6 ปี ยางชั้นรองลงมามีสีน้ำตาล ซึ่งได้จากต้นแก่ที่มีอายุ 7-9 ปี ต้นกำยานที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปจะให้ยางสีน้ำตาลดำหรือสีดำ ซึ่งไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ประโยชน์
ยางจากต้นกำยาน ใช้ทำเครื่องร่ำน้ำอบไทย ทำธูป กระแจะ หรือเครื่องหอมชนิดอื่น ๆ วิธีการกรีดยาง ให้ใช้มีดหรือของมีคม สับฟันต้นหรือเปลือกให้น้ำยางไหลออกมา แล้วทิ้งไว้อย่างนั้น 60 วัน เพื่อให้น้ำยางแห้ง จึงทำการเก็บยางจากต้นหรือเปลือกออกมาใช้
ยางนำไปสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เรียก Benzoin oil ได้น้ำมันสีส้มอมน้ำตาล กลิ่นหอมคล้ายวนิลา ช่วยรักษาความตึงเครียดของระบบประสาท ทำให้จิตใจเบิกบานหายหดหู่
ลักษณะ
กำยานเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกลำต้นสีเทา หรือสีหม่น ๆ มีขนเล็กน้อย ใบรูปไข่ยาวเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีขน เป็นไม้ที่มียางและดอกหอม
ดอกมีขนด้านในสีชมพู ชมพูแดง กลีบดอกด้านนอกสีขาว เกสรตัวผู้สีเหลือง มีกลิ่นหอม ออกเป็นกระจุกหรือช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ
ผล  ค่อนข้างกลม ผิวสีน้ำตาล
การขยายพันธุ์
กำยานขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง
สรรพคุณ
–         ยาง  มีกลิ่นหอม ใช้เป็นยา บำรุงเส้น แก้ลม แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ สมานแผล หรือใช้ดับกลิ่นเน่าเหม็นทุกประเภท เมื่อผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ทาแก้โรคเชื้อรา น้ำกัดเท้า ทาแผล หรือนำไปเผาไฟใช้ควันอบห้อง เพื่อฆ่าเชื้อโรคในอากาศ
ประโยชน์ด้านอื่น
–         ยาง  ใช้ทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย ทำธูป กระแจะ หรือเครื่องหอมชนิดอื่น ๆ หรือใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำหอมให้เกิดกลิ่นคงตัว ช่วยทำให้น้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นเบากว่าคงอยู่ได้นาน และใช้เป็นสารกันเสียหรือกันหื่นได้ดี
น้ำมันกำยาน (Benzoin)
น้ำมันกำยานมีความโดดเด่นในการถูกใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตน้ำหอม เพราะมันทำหน้าที่ทำให้กลิ่นคงตัว (Tixahve)และรักษาให้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยที่เบากว่าอยู่ได้นาน และยังใช้เป็นสารกันเสียกันหื่นได้ดีโดยตัวของมันเอง น้ำมันกำยานมีประโยชน์ในการรักษาความตึงเครียดของระบบประสาท ทำให้จิตใจเบิกบานหายหดหู่
น้ำมันกำยานมีสีส้มอมน้ำตาล กลิ่นหอมหวานคล้ายวนิลา จัดอยู่ในกลุ่ม Base note
วิธีการใช้
ประคบ ผสมน้ำหอม ผสมน้ำมันนวด ผสมในขี้ผึ้ง

คัดเค้า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Randial siamensis Craib
วงศ์ RUBIACEAE
ชื่ออื่น เค็ดเค้า(เหนือ) หนามลิดเค้า จีเก๊า(เชียงใหม่)
คัดเค้าให้ดอกเล็กคล้ายดอกมะนาวสีขาวมีกลิ่นหอม โชยกลิ่นหอมแรงในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืน ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม นอกจากความหอมชื่นใจ ดอกยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพรใช้รักษาโลหิตกองกำเดา และสามารถนำไปรับประทานเป็นอาหารได้
วิธีบริโภค นำดอกสดไปชุบแป้งทอดรับประทานกับน้ำจิ้ม
ลักษณะ คัดเค้าเป็นไม้พุ่มกึ่งเลื้อยเนื้อแข็งและเหนียว คล้ายพวกเฟื่องฟ้า มีหนามตามกิ่งก้าน ใบเรียวยาวคล้ายใบมะม่วง
ดอก เล็กคล้ายดอกมะนาวสีขาว มีกลิ่นหอม โชยกลิ่นหอมทั้งวันแต่จะหอมมากในช่วงเวลาเย็นถึงกลางคืน ดอกออกเป็นกระจุกบนก้านเดียวตามซอกใบและปลายกิ่ง ออกดอกช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม
ผล กลมรี ปลายแหลม เมื่อแก่มีสีดำ ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก
การขยายพันธุ์ คัดเค้าขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง หรือปักชำ เป็นไม้กลางแจ้ง ขึ้นได้ในดินทุกชนิด ต้องการน้ำปานกลาง สามารถทนสภาพความแห้งแล้งได้
สรรพคุณ
ใบ  ใช้รักษาโรคโลหิตซ่าน แก้ไข้
ดอก  ใช้รักษาโลหิตในกองกำเดา
ผล  บำรุงโลหิต ขับประจำเดือน
หนาม  ลดไข้ ลดความร้อน แก้พิษไข้กาฬ แก้พิษฝีต่าง ๆ
ต้น  บำรุงโลหิต
เปลือกต้น  แก้เลือดออกในทวารทั้ง 9 รีดมดลูก แก้เสมหะและโลหิตซ่าน
แก่น  ฝนน้ำรับประทานแก้ไข้
ราก  รสเย็นและฝาด ใช้ขับเลือด รักษาไข้เพื่อโลหิต รักษาเลือดออกตามไรฟัน
จันทร์หอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mansonial gagei Drumm.
วงศ์ STERCULIACEAE
ชื่ออื่น จันทร์ จันทร์ชะมด(ประจวบคีรีขันธ์) จันทร์ขาว จันทร์พม่า (กลาง)
จันทร์หอมให้ดอกเล็กสีขาว ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เป็นพืชที่มีเนื้อไม้หอม ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ปรุงแต่งเครื่องหอมและเครื่องสำอางหรือใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ รูป เนื้อไม้ และแก่นยังใช้ประโยชน์ด้านยาสมุนไพรได้อีกด้วย
ลักษณะ จันทร์หอมเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ สูงประมาณ 10-20 เมตร เปลือกค่อนข้างเรียบสีเทาอมขาว เรือนยอดพุ่มค่อนข้างโปร่ง ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ขอบใบเป็นคลื่นห่าง ๆ
ดอกเล็กสีขาว ออกเป็นช่อใหญ่ ตามปลายกิ่งและง่ามใบ ออกดอกประมาณเดือนสิงหาคม-ตุลาคม
ผล  รูปกระสวย มีปีกรูปสามเหลี่ยม ผลแก่จัดประมาณเดือนธันวาคม-มกราคม
การขยายพันธุ์
จันทร์หอมขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ดีในสภาพดินทุกชนิด เป็นไม้กลางแจ้ง ตามธรรมชาติมักขึ้นในดินแถบเขาหินปูน
สรรพคุณ
–  เนื้อไม้ ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้โลหิตเสีย เป็นยาบำรุงหัวใจ
–  แก่น  กลิ่นหอม  ใช้แก้ไข้ ขับลม บำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง แก้คลื่นเหียนอาเจียน โดยใช้แก่นบดเป็นผง 1 ช้อนชา ชงน้ำดื่ม หรือปรุงเป็นยาหมอบำรุงหัวใจรวมกับสมุนไพรอื่น ๆ (แก่นมีสีน้ำตาลอ่อน มีเส้นสีดำ กลิ่นหอม)
ประโยชน์ด้านอื่น
เนื้อไม้  เนื้อไม้ที่ตายเองจะมีกลิ่นหอม ตบแต่งง่าย ใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า เครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ทำหวี ดอกไม้จันทน์ ธูป ใช้สกัดน้ำมันหอมระเหย ปรุงแต่งเครื่องหอมและเครื่องสำอาง









วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2562

พรรณไม้หอมไทย

พรรณไม้หอม

 มีให้เราเลือกปลูกมากมายเป็นร้อยพันชนิดก็ว่าได้ ซึ่งแต่ละพรรณก็จะมีกลิ่นไม่เหมือนกันตั้งแต่ ให้กลิ่นหอมอ่อนสบาย ให้กลิ่นหอมเย็นสดชื่น หรือกลิ่นหอมแรงแบบเมืองร้อนและอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญนอกจากเรื่องประเภทกลิ่นของ พรรณไม้หอม เราทราบถึงช่วงเวลาที่แต่ละต้นจะส่งกลิ่นออกมา รวมถึงช่วงเวลาการออกดอกซึ่งแบ่งเป็นฤดูกาล ไปจนถึงออกดอกตลอดปี เอาล่ะ  ขอแนะนำ 5 พรรณไม้หอมน่าปลูกไปดูกันว่ามีต้นอะไรบ้าง

1 . มะลิก้านแดง

มะลิก้านแดง พรรณไม้หอม ดอกไม้สีขาว


มะลิ ก้านแดง พรรณไม้หอม ประเภทไม้เลื้อยขนาดกลาง กิ่งก้านเลื้อยได้ไกล 3 – 4 เมตร ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ออกตรงข้าม ใบย่อย 5 – 9 ใบ ไม่มีก้านใบ รูปรี ปลายใบและโคนใบมน ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเข้ม ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกย่อย 1 – 3 ดอก กลีบเลี้ยงสีเขียว เป็นซี่เรียวแหลม โคนเชื่อมติดกัน ดอกตูมสีชมพู กลีบดอกสีขาว โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบชอบแดดเต็มวัน
กลิ่น   หอมอ่อนๆ
ช่วงเวลา    ค่ำ-เช้า
ออกดอก     ตลอดปี

2 . โมกราชินี
โมกราชินี ดอกไม้หอม ดอกไม้สีขาว


โมกราชินี หรือโมกสิริกิติ์ ซึ่งขอพระราชทานพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ มาตั้งเป็นคำระบุชนิดเมื่อปี พ.ศ. 2544 โมกราชินีเป็น พรรณไม้หอม ขนาดกลางสามารถสูงได้ถึง 6 เมตร บางต้นแคระแกร็นคล้ายบอนไซ ลำต้นสีเทาอมน้ำตาลเปลือกต้นขรุขระ ทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว ใบเดี่ยวออกตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ใต้ใบมีขนอ่อนปกคลุม ดอกเดี่ยวออกที่ปลายยอด ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 – 5 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว กลางดอกมีรยางค์เป็นขนยาว น้ำปานกลาง ทนแล้ง ไม่ทนน้ำท่วมขัง แสงแดดตลอดวัน
กลิ่น   หอมอ่อนๆ
ช่วงเวลา    เย็น-ค่ำ
ออกดอก     ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน


3 . แก้วเจ้าจอม


แก้วเจ้าจอม ดอกไม้สีม่วง ดอกไม้สีฟ้า ต้นไม้ดอกหอม


แก้วเจ้าจอม มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะเวสต์อินดีส พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำต้นพันธ์มุาจากประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ. 2451 และทรงปลูกไว้ที่พระราชอุทยานสวนสุนันทา เดิมชาววังเรียกว่า“ ต้นน้ำอบฝรั่ง ” ต่อมาพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราช ปดิวรัดา ประทานชื่อใหม่ว่า “แก้วจุลจอม” ในปี พ.ศ. 2501 ศาสตราจารย์เต็ม สมิตินันทน์ ได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “แก้วเจ้าจอม” ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน เป็นพรรณไม้ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ต้นแก้วเจ้าจอมเป็น พรรณไม้หอม ขนาดใหญ่สามารถสูงได้ถึง 10 – 15 เมตร เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประธานในสวน ลำต้นมีเนื้อไม้แข็ง ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ออกตรงข้ามมี 2 พันธุ์ คือ ใบย่อย 2 คู่และ 3 คู่ ใบย่อยรูปไข่กลับหรือรูปรี ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง 1- 2.5 เซนติเมตร ยาว 1.5 – 2.5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบสอบ ดอกออกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบใกล้ปลายยอด กลีบดอก 5 กลีบ ดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 – 2.5 เซนติเมตร บานวันแรกสีฟ้าอมม่วง จากนั้นสีจะซีดลงเป็นสีขาว เกสรสีเหลืองเห็นเด่นชัด น้ำปานกลาง แดดเต็มวัน ขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก จึงนิยมใช้วิธีตอนกิ่งและเพาะเมล็ด
กลิ่น   หอมอ่อน ๆ
ออกดอก     ช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน และช่วงเดือนสิงหาคม – ตุลาคม


4 . หิรัญญิการ์


หิรัญญิการ์ พรรณไม้หอม ดอกไม้สีขาว


หิรัญญิการ์ ไม้เลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ กิ่งก้านเลื้อยได้ไกล 6 – 15 เมตร กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบออกตรงข้าม รูปไข่กลับหรือรูปรีแกม ขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน ใต้ใบสีขาวนวล มีขนสากมือสีน้ำตาลอมแดง เส้นใบย่อยเป็นร่องชัดเจน ออกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง รูปกรวยตื้น กลีบดอกสีขาว โคนกลีบสีเขียวอ่อน ขอบกลีบบิดเป็นคลื่นเล็กน้อย ทยอยบาน ชอบแดดเต็มวัน
กลิ่น   หอมอ่อน ๆ
ออกดอก     ช่วงเดือนธันวาคม – เมษายน (เน้นฤดูหนาว)


5 . พุดซ้อน

พุดซ้อน ดอกไม้สีขาวกลิ่นหอม พรรณไม้ดอกหอม

พุดซ้อนไม้พุ่มขนาดกลาง สูงได้ 1-2 ม. ทรงพุ่มแตกกิ่งแขนงมาก ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียวเป็นมัน ดอกเดี่ยว สีขาว ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงหนาเป็นสัน มีทั้งดอกชั้นเดียวและดอกซ้อน เมื่อดอกบานมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 7-8 ซม. มักไม่ติดผล มีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์แคระ พันธุ์ใบคลื่น พันธุ์ด่างหรือพุดซ้อนด่าง เทคนิคการทำให้ดอกพุดซ้อนใหญ่ขึ้น ควรหมั่นตัดแต่งทรงพุ่มให้ดูโปร่งอยู่เสมอ และด้วยลักษณะต้นและใบของพุดซ้อนนั้นเหมาะกับสวนแบบไทย ๆ และสวนป่า จึงนิยมนำดอกไปร้อยเป็นมาลัยบูชาพระ หรือนำไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ทำน้ำหอม เปลือกของต้นพุดซ้อนมีสรรพคุณทางยาช่วยแก้บิด ใบแก้อาการปวดศีรษะ เคล็ดขัดยอก ดอกคั้นน้ำทาแก้โรคผิวหนัง ผลใช้ขับพยาธิ ขับปัสสาวะได้ด้วย
กลิ่น   หอมแรง
ออกดอก     ตลอดปี







พรรณไม้หอมไทย

พันธุ์ไม้หอมที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร       เมืองไทยมีพันธุ์ไม้หอมจำนวนมากมาย ทั้งพืชที่ให้ดอกหอม ใบหอม เปลือกหอม ผลหรือเมล็ดหอม รากหอม...